ดูบทความ
ดูบทความอายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ
อายุรกรรมระบบทางเดินอาหารและตับ
โรคท้องเสียเรื้อรัง จริงๆแล้วจะเรียกว่าเป็นโรคอาจฟังดูน่ากลัวเกินไป และอาจไม่ถูกต้องนัก เพราะ อาการท้องเสียเรื้อรังที่พบกันทั่วไปในแมวนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อเพียงอย่างเดียว อาการป่วยที่เกิดขึ้นกับระบบทางเดินอาหารในแมว สามารถพบได้ตั้งแต่ลูกแมวยังไม่หย่านมจนถึงแมวโตไม่ จึงไม่จำกัดวัย ไม่จำกัดเพศ
เมื่อแมวมีอาการป่วยท้องเสียเรื้อรัง จะมีอัตราการตายต่ำแต่หายยาก แมวโตมักจะไม่ตาย แต่ในลูกแมวมีโอกาสตายบ้างพอสมควรเนื่องจากการสูญเสียน้ำในปริมาณมากๆ และเฉียบพลัน
สาเหตุ : เกิดได้หลายสาเหตุ เช่น นม อาหาร หรือการเปลี่ยนแปลงอื่นๆจากปัจจัยภายนอก หรืออาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียพวก Salmonella หรือ Campylolacter พยาธิในทางเดินอาหาร มีทั้งพยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย และพยาธิตัวตืด เชื้อบิด เชื้อไวรัส ความผิดปกติของระบบความต้านทาน
อาการ : มีการถ่ายอุจจาระเรี่ยราดทั้งวันและในช่วงแรกๆ จะกินอาหารได้ดีมาก ระยะของโรคเป็นหลายวัน บางตัวเป็นเดือน ลักษณะอุจจาระส่วนใหญ่เหลวข้น สีเหลืองอ่อนอาจถึงเหลืองแก่ บางครั้งมีอาหารที่ยังไม่ย่อยออกมาด้วย บางตัวอาจมีพยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย หรือพยาธิตัวตืดออกมาด้วย
การรักษา : ขึ้นอยู่กับโรคว่าเกิดจากสาเหตุใดให้ไปรักษาที่สาเหตุนั้น เช่น การเปลี่ยนอาหาร การให้ยาปฏิชีวนะ การให้ยากำจัดเชื้อบิด การถ่ายพยาธิในทางเดิน
อาหาร การให้ยาแก้ท้องเสียควบคู่ไปกับการให้น้ำเกลือ อาหาร และวิตามิน ร่วมกับการรักษาไปตามอาการอื่นๆ
การป้องกัน : ให้อาหารที่สะอาด ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัด ถ่ายพยาธิให้แก่แมว
ฟังดูเหมือนไม่น่าจะมีอะไรมาก แล้วทำไม เจ้าของพาไปหาสัตวแพทย์กี่รอบ เดี๋ยวเป็นเดี๋ยวหาย แล้วทำไมถึงเรื้อรัง หลักการง่ายๆก่อนคือควรเข้าใจว่าปัญหาอยู่ตรงไหน
1. ลำไส้เล็ก
2. ลำไส้ใหญ่
3. ปัญหาเป็นทั้ง 2 ส่วน
4. ปัญหาอยู่ในส่วนเยื่อบุลำไส้ด้านนอก
5. ปัญหาเป็นในส่วนเยื่อบุลำไส้ชั้นลึกลงไป
6. ปัญหาในส่วนประชากรแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ มีปริมาณสมดุลย์ หรือไม่ อยู่ในตำแหน่ที่ควรอยู่ หรือผิดที่ผิดทาง
7. มีอวัยวะส่วนอื่นมีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดอการท้องเสียร่วมด้วยหรือไม่ เช่น ตับอ่อน ตับ ไต
8. อื่นๆ
ดังนั้นจะเห็นว่าจริงๆแล้วจาก 1-8 ข้อ การวินิจฉัยอาการท้องเสียไม่ใช่เรื่องง่าย (คงไม่ใช่แค่การป้ายอุจจาระใส่ slide แล้วไปส่องกล้องแล้วบอกว่า พบเชื้อแบคทีเรียจำนวนมาก แล้วสรุปว่าติดเชื้อแบคทีเรีย จึงต้องให้ยาต้านแบคทีเรีย หรือ Antibiotics) และสัตวแพทย์ส่วนมากก็มักจะไม่ทำการวินิจฉัยในรายละเอียดมาก เพราะด้วยปัจจัย หรือข้อจำกัดต่างๆตามแต่ละที่ (ท่าน) ทำให้ไม่พร้อมที่จะทำ แต่ข้ามไปที่การรักษาเลย โชคดีอาจดีขึ้นที่เรียกว่า Antibiotics Responsive Diarrhoea หรืออาจดีขึ้นแล้วกลับมาเป็นอีกจนกลายเป็นอาการท้องเสียเรื้อรัง ที่เรียกว่า Antibiotics Associated Diarrhoea เมื่อเรื้อรังนานมากขึ้น (ปกติพิจารณาที่อาการป่วยเกิน 3 สัปดาห์)จะทำให้การแก้ไขยากขึ้น และใช้เวลานานขึ้น
ดังนั้นเมื่อพบสัตว์ป่วยด้วยอาการท้องเสีย พาไปพบสัตวแพทย์ เจ้าของควรสอบถามสัตวแพทย์ในรายละเอียดเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า อาการป่วยที่เกิดขึ้นจะไม่ลุกลามไปเป็นการป่วยแบบเรื้อรังโดยรู้เท่าไม่ถึงการ และขอความรู้จากสัตวแพทย์ๆที่ดีจะยินดีมากที่จะให้ความรู้ให้ความกระจ่าง เพราะจะทำให้เจ้าของรู้ว่า การรักษาสัตว์ที่มีอาการท้องเสียมีมากกว่าการใช้เพียงยาปฎิชีวนะตามที่คุ้นเคยกัน
บทความที่เกี่ยวข้อง
19 สิงหาคม 2560
ผู้ชม 14381 ครั้ง